วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด
หลักสูตรวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด มีระยะเวลาในการฝึกอบรม 4 ปี
วิธีการฝึกอบรมประกอบด้วย
- ภาคทฤษฏี จำนวน 10 หน่วยกิต
- ภาคปฏิบัติ ปฏิบัติการและฝึกปฏิบัติงานในสาขาเภสัชบำบัด ในสถาบันฝึกอบรมของสภาเภสัชกรรม จำนวน 91 หน่วยกิต
- การทำวิจัย จำนวน 32 หน่วยกิต
ประกาศนียบัตรที่ได้รับ
- ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในปีที่ 1 จะได้รับประกาศนียบัตร General residency in Pharmacotherapy
- ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในปีที่ 3 จะได้รับประกาศนียบัตร Specialized residency in ________ pharmacotherapy
- ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในปีที่ 4 จะได้รับประกาศนียบัตร Specialized fellowship in ________ pharmacotherapy
ผู้เข้าฝึกอบรมที่ไม่สามารถเข้าฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าฝึกอบรมในชั้นปีที่ 1 เมื่อผ่านการประเมินผลจะได้รับประกาศนียบัตร General residency in Pharmacotherapy และเมื่อพร้อมสามารถกลับเข้ามาฝึกอบรมต่อในชั้นปีที่ 2 และ 3 ได้ โดยจะได้รับประกาศนียบัตร Specialized residency in ……………….. pharmacotherapy ในสาขาที่ฝึกอบรม หากเข้าฝึกอบรมต่อในชั้นปีที่ 4 จะได้รับประกาศนียบัตร Specialized fellowship in ………….. pharmacotherapy ในสาขาที่ฝึกอบรมและทำวิจัย ดังนั้นผู้ที่เข้าฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เมื่อผ่านการประเมินผลทั้งหมดจะได้รับวุฒิบัตรฯ สาขาเภสัชบำบัด และ ประกาศนียบัตรดังกล่าว
วิทยาลัยเภสัชบำบัดกำหนดการรับสมัครผู้เข้าฝึกอบรมในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี โดยรายละเอียดดูได้ที่เว็บไซต์วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย
หนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด
วิทยาลัยเภสัชบำบัดมีหน้าที่ในการจัดสอบประเมินความรู้ความสามารถด้านเภสัชบำบัดให้แก่เภสัชกรที่ทำหน้าที่บริบาลทางเภสัชกรรม ให้ได้รับหนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาเภสัชบำบัด โดยผู้ขอรับการประเมินต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางเภสัชกรรม
2. ประกอบวิชาชีพในสาขาเภสัชบำบัดหรือที่เกี่ยวข้องเกื้อกูล มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
3. มีคุณสมบัติเทียบเท่าตามที่สภาเภสัชกรรมรับรอง
ผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสามารถส่งใบสมัครมาที่วิทยาลัยเภสัชบำบัดฯ ได้โดยจะมีประกาศรับสมัครสอบเพื่อประเมินความรู้ปีละหนึ่งครั้งในเดือน มีนาคม
การจัดการศึกษาต่อเนื่องแก่เภสัชกร
วิทยาลัยเภสัชบำบัดฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา โดยกำหนดจัดปีละครั้ง มีเนื้อหาทางด้านเภสัชบำบัดเพื่อให้เภสัชกรที่ทำหน้าที่ในการบริบาลทางเภสัชกรรมมีความรู้ที่ทันสมัย โดยใช้ชื่อการประชุมว่า“เภสัชบำบัดร่วมสมัย (Contemporary Review in Pharmacotherapy)” วิทยาลัยเภสัชบำบัดฯ จัดการประชุมนี้มาแล้วรวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง มีเภสัชกรเข้าร่วมการประชุมกว่า 2,000 คน